วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กลอย​ (Asiatic bitter yam)​

      วันนี้​ Joyrawee​ จะมาแนะนำพืชอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดอยู่ในสวนหลังบ้าน​  บางท่านอาจจะค้นเคยกันเป็นอย่างดี​  แต่บางท่านอาจจะยังไม่รู้จักหรืออาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้วแต่ไม่รู้ว่ามันชื่ออะไร​  เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่าเจ้าพืชชนิดนี้คืออะไร​  ไปดูกันเลย!

กลอย​ (Asiatic​ bitter yam)
      

       มีชื่ออื่นๆ​ ว่า​  มันกลอย​  กลอยข้าวเหนียว​ กลอยไข่​  กลอยนก  กอย​  กลอยข้าจ้าว​  ว่านกลอยจืด​ กลอยหัวช้าง​  กลอยระกำ​  คลี้​  กลอยหัวเหนียว​  เป็นต้น​  
      เป็นพืชในวงศ์​ Dioscoreaceae  สกุล​ Dioscorea  พบมากในบริเวณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน​ เช่น​ แอฟริกา​  อเมริกากลาง​  หมู่เกาะแปซิฟิก​  และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้​ อินเดีย​  จีนตอนใต้​  นิวกินีและไทยพบทั่วทุกภาค​  ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและหัวที่อยู่ใต้ดิน


      เป็นไม้เถาล้มลุก​เจริญเลื้อยพันธุ์ต้นไม้อื่น​  ไมมีมือเกาะ​  มีหัวใต้ดิน​  ลำต้นกลมมีหนามเล็กๆ​ กระจายทั่วไปและมีขนนุ่มๆ​ สีขาวปกคลุม​  มีรากเจริญเป็นหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน​  
      ใบเป็นใบประกอบเรียงตัวแบบเกลียว​  ผิวใบสากมือ​  มีขนปกคลุม​  มีใบย่อย​ 3​ ใบ​ ใบกลางแผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน​  ปลายเรียวแหลม​  โคนแหลม​  ขอบใบเรียบ​  เส้นใบนูน​  ใบย่อย​ 2​ ใบ​ แผ่นใบรูปไข่​  รูปไข่กลับ​  ขนาดสั้นกว่าใบกลางแต่กว้างกว่า​  ปลายแหลม​  โคนกลม​  เส้นใบออกจากจุดเดียวกัน
      หัวใต้ดินส่วนมากกลมรีบางทีเป็นพู​  มีรากเล็กๆ​ กระจายทั่วทั้งหัว​ มี​ 3-5 หัวต่อต้น​  เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง​ เนื้อในหัวมี​ 2​ ชนิด​ คือ​ สีขาว​ (กลอยหัวเหนียว)​ และสีครีม​ (กลอยไข่​ กลอยเหลือง)​
      ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง​  แยกเพศอยู่คนละต้น​  ดอกย่อยมีขนาดเล็กจำนวน​ 30-50​ ดอก​ สีเขียว​ ออกตามซอกใบห้อยลง​  ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง​ 2-3 ชั้น​ ดอกตั้งขึ้น​  ยาวได้ถึงประมาณ​ 40 ซม.​  เกสรตัวผู้จำนวน​ 6​ อัน​ ดอกเพศเมีย​  ออกเป็นช่อชั้นเดียว​  ดอกชี้ลงดิน​ กลีบเลี้ยงและกลีบดอฏอย่างละ  6​ กลีบ​ เรียงเป็น​ 2​ วง
      ผลแก่แตกได้​  มีสีน้ำผึ้ง​ มีครีบ​ 3​ ครีบ​ คล้ายมะเฟือง​ แต่ละครีบมี​ 1​ เมล็ด​ ผิวเกลี้ยงเมล็ดกลมแบน​  มีปีกบางใสรอบเมล็ดช่วยในการปลิวลอยไปกับลมได้
      ประโยชน์​  หัวสามารถรับประทานได้แต่ต้องล้างให้สะอาดและทำให้สุกก่อน​  หัวกลอยให้แป้งมากแต่มีสารไดออสคอรีนมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้  ทำให้เมา​ คันคอ  เหงื่อออก​ อาเจียน​ ตาพร่า​ วิ​งเวียน​  ใจสั่น​ ต้องนำมาทำให้หมดพิษโดยปอกเปลือกทิ้ง​  แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ​ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่านเช่น​ น้ำตก​ น้ำห้วย​ น้ำทะเล​  สัก​ 2-3​ วัน​ ล้างให้สะอาดแล้วนำไปนึ่ง​  หรือนำไปต้มในน้ำเกลือโดยต้องเปลี่ยนน้ำล้างหลายๆ​ หนเพื่อให้สารพิษออกใ้หมดแล้วจึงนำไปรับประทานได้​  ด้านสมุนไพร​ หัวใต้ดินหั่นเป็นแผ่นบางๆ​ ปิดบริเวณที่มีอาการบวมอักเสบ​  แก้เถาดาน​ (อาการแข็งเป็นลำในท้อง)​ หุงเป็นน้ำมันใส่แผล​ กัดฝ้า​ กัดหนอง​  หัวแห้งปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย​  ขับปัสสาวะ​ แก้ปวดตามข้อ​ ฝีมะม่วง​ โรคซิฟิลิส​  รากบดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใบยาสูบใบลำโพงหรือพริกใช้ทาหรือพอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยงได้​  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น