วันนี้ Joyrawee ได้มีโอกาสกลับบ้านที่ต่างจังหวัดนั่นก็คือ จังหวัดอุบลราชธานี นั่นเองค่ะ ในป่าแถวบ้านจะมีต้นไม้เกิดขึ้นมาเยอะแยะเลยรวมถึงเจ้าลูกกลมๆ ที่ Joyrawee จะนำมาให้เพื่อนๆ ดูนี้ด้วยค่ะ มันคือ ลำบิดดง หรือที่แถวบ้านจะชอบเรียกว่า "หมากคันจ้อง" นั่นเองค่ะ เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามันมีลักษณะอย่างไร ไปกันเลย!
ลำบิดดง (Diospyrosfilipendula pierre ex lecomte)
มีชื่ออื่นๆ ว่า จังนัง คันจอง คันจ้อง ดำบิดดง จูมจ้อง เป็นต้น เป็นพืชในวงศ์ Ebenaceae
เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึงประมาณ 10-12 เมตร เปลือกสีเทาปนน้ำตาล
ใบ เป็นใบเดี่ยวเรึยงสลับ รูปหัวใจ รูปวงรีถึงรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลมมนหรือรูปหัวใจ แผ่นใบบางมีขนสั้นหนานุ่ม มีขนตลอดเส้นกลางใบ
ดอก แยกเพศอยู่คนละต้น กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 4 กลีบ ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกย่อย 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงรูประฆัง กลีบแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ มีขนสากด้านนอก ติดทน กลีบสีขาว รูปดอกเข็ม กลีบแยกประมาณกึ่งหนึ่งมีขนด้านนอก เกสรตัวผู้ 12-16 อัน เกลี้ยง ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี๋ยว คล้ายดอกตัวผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่มีขนยาวที่โคนมี 4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน
ผลสดแบบมีเนื้อ รูปทรงกลม กลีบเลี้ยงแยกเกือบจรดโคน มีขนด้านนอก ผลอ่อนมีขนนุ่ม ผลแก่เกลี้ยงมีนวลสีขาว รับประทานได้ มีหลายเมล็ด
พบที่กัมพูชา เวียดนามและคาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายห่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ตอนบน ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ ผลแก่สามารถรับประทานได้ ใบอ่อนรับประทานเป็นผักสดมีรสฝาดหวาน เป็นสมุนไพร รากแช่น้ำดื่มและอาบแก้ซางเด็ก (โรคของเด็กเล็กมีอาการสำคัญคือ ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและลำคอ ลิ้นเป็นฝ้า เบื่ออาหาร) หรือเข้ายาแก้ประดง เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด รากนำมาต้มรวมกับสมุนไพรอื่นแก้ไข้ ใช้เป็นยาเย็น เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น