วันนี้เราจะมาแนะนำพรรณพืชอีชนิดหนึ่งให้เพื่อนได้รู้จักกันเพิ่มเติมนะคะ แถวอีสานบ้าน joyrawee เขาจะชอบเรียกกันว่า "ผักตูบหมูบ" สำหรับคนภาคกลางจะเรียกว่า "เปราะป่า" และพื้นที่อื่นๆ ก็จะเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่นของตัวเอง เราไปดูหน้ากันดีกว่าค่ะว่าเจ้า "ผักตูบหมูบ" ที่ชาวบ้านแถวอีสานชอบเรียกกันนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้างไปดูกันเลย!
เปราะป่า (Peacock ginger)
มีชื่ออื่นๆ ว่า ตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ เอื้องดิน เปราะ ว่านส้ม หัวหญิง ว่านหอม เปราะเถื่อน เปราะเขา ว่านดอกดิน ว่านอีมูบ ว่านนกยูง ว่านหาวนอน ว่านนอนหลับ ว่านแผ่นดินเย็น เป็นต้น
เป็นพืชในวงศ์ขิง Zingiberaceae การกระจายพันธุ์พบในประเทศพม่า อินเดีย ส่วนไทยพบตามพื้นที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ของทุกภาค
เป็นพืชลงหัวขนาดเล็ก มีเหง้าสั้นและรากเป็นกระจุก หัวเปราะป่าหรือเหง้าสั้นและมีขนาดเล็ก ลักษณะของเหง้าเป็นรูปทรงกลม สีน้ำตาล ที่ผิวมีรอยข้อปล้องอย่างชัดเจน ออกรากจากเหง้าหลักเป็นเส้นกลมยาว เหง้ามีกลิ่นหอม รสร้อนเผ็ดและขมจัด
ใบมีใบเป็นใบเดี๋ยว ใบอ่อนจะม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น เมื่อแก่จะแผ่ราบบนหน้าดิน ใบไม่มีก้านใบ หนึ่งต้นจะมีใบเพียง 2 ใบ ใบมีสีเขียวเข้มขอบใบมีสีม่วงแดง เป็นรูปทรงกลมหรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม หลังใบเรียบด้านล่างมีขน มีลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม
ดอกช่อดอกแทงออกมาจากตรงกลางระหว่างกาบใบทั้ง 2 มีกลีบดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น
กลีบรูปแถบ กลีบหลังยาวและมีขนาดกว้างกว่ากลีบข้าง ดอกจะมีสีขาว กลีบดอกบอบบาง มีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก มีใบประดับสีขาวอมเขียว เป็นรูปใบหอก เกสรตัวผู้เป็นหมันจะมีสีขาวเป็นรูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กลีบปากมีสีม่วง มีแถบสีขาวอยู่ระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบเป็นรูปไข่กลับแกมแกมรูปลิ่ม มีปลายหยักและลึกมาก เกสรตัวผู้นั้นเกือบไม่มีก้านหรืออาจมีก้านยาวเพียง 1 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาวและส่วนปลายแยกเป็น 2 แฉก
ผลเป็นรูปไข่มีสีขาวแตกเป็น 3 พู ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาล
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการแยกเหง้าหรือหัว
ประโยชน์ ใบอ่อนสามารถรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ ทำเครื่องเคียง เครื่องเทศ ใช้น้ำมันหอมระเหยจากหัวผลิตเป็นน้ำหอม เป็นไม้ประดับ เป็นไม้มงคล เป็นสมุนไพร หัวใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้อาการไอ แก้กำเดา แก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ แก้ลมพิษ ผดผื่นคัน ต้มดื่มเป็นยาแก้อัมพาต ใบแก้เกลื้อนช้าง บรรเทาอาการเจ็บคอ ดอกแก้อาการอักเสบ ตาแฉะ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น